การเลี้ยงปลาสวาย

การเลี้ยงปลาสวาย

ปลาสวาย เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลาเทพา ปลาเทโพ และปลาสังกะวาด พบแพร่หลายในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อหรือในกระชังและสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ปลาสวายเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และไม่ค่อยมีโรคพยาธิเหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ปลาสวายยังกินอาหารได้เกือบทุกชนิด เช่น เศษอาหารจากครัวเรือน มูลสัตว์แห้ง เช่น มูลไก่ มูลโค มูลสุกร เป็นต้น

ลักษณะเพศและการผสมพันธุ์ปลาสวาย

ปลาเพศเมีย ท้องอูม กลมนูน พื้นท้องนิ่มมาก พอถึงเวลาที่ปลาเพศเมียมีไข่สุกเต็มที่พร้อมวางไข่ลำตัวมีสีขาวเงิน

ปลาเพศผู้ ท้องจะแบนเรียบไม่นูนเหมือนเพศเมีย พื้นท้องแข็งกว่า ช่องเพศรี แคบและเล็ก มีสีแดงอ่อนกว่าเพศเมีย มีส่วนของอวัยวะยื่นออกมา

ปลาสวายตามธรรมชาติจะผสมพันธุ์ในฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ตามธรรมชาติบริเวณที่น้ำท่วม ช่วงฤดูน้ำหลากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ปลาสวายโดยใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมทำให้มีพันธุ์ปลาเพียงพอสำหรับการเลี้ยง สามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาสวายวางไข่เพื่อที่จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อ เมื่อทำการผสมไข่กับน้ำเชื้อต้องล้างน้ำให้สะอาดขจัดคราบไขมัน แล้วนำไข่ที่ได้ไปฟักไข่ในบ่อหรือถังพักต่อไป โดยภายในถังบ่อพักไข่ต้องเพิ่มออกซิเจนผ่านหัวทรายตลอดเวลา เพื่อให้มีออกซิเจนเพียงพอต่อการฟักไข่ออกเป็นตัว ไข่ปลาสวายจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลาประมาณ 23-33 ชั่วโมง หลังจากวางไข่ที่อุณหภูมิน้ำ 28-31 องศาเซลเซียส ลูกปลาสวายที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ลักษณะโปร่งใส โปร่งแสง และยังไม่ว่ายน้ำ จะพักตัวอยู่เฉยๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ลูกปลาจะแข็งแรงขึ้น แล้วจึงเริ่มเคลื่อนไหวโดยว่ายน้ำเป็นแนวดิ่ง และว่ายน้ำขึ้นลงเป็นเวลา เมื่อลูกปลาสวายเจริญเติบโตมีอายุ 14 วัน ก็จะมีอวัยวะครบถ้วนเช่นเดียวกับปลาโตเต็มวัย

การเลี้ยงลูกปลาสวาย
การเลี้ยงปลาสวายประเภทเลี้ยงชนิดเดียวกัน ปัจจุบันมีการเลี้ยงอยู่ 2 วิธี คือ การเลี้ยงในบ่อดิน และการเลี้ยงในกระชัง

ก. การเลี้ยงปลาสวายในบ่อดิน ควรพิจารณาหลักการดังนี้

1. ขนาดของบ่อและที่ตั้ง ควรมีขนาดเป็นบ่อใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ขึ้นไปความลึกประมาณ 2 เมตร ที่ตั้งควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เพื่อสะดวกในการระบายน้ำเข้า-ออกได้ง่าย

2. การเตรียมบ่อ กรณีบ่อใหม่ที่เพิ่งขุดเสร็จ บ่อในลักษณะนี้มีปัญหาเรื่องเชื้อโรคที่ตกค้างอยู่ในบ่อ เพียงแต่บ่อใหม่จะมีอาหารธรรมชาติอยู่น้อย หากภายในบ่อมีคุณสมบัติของดินมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ต่ำกว่า 6.5 ต้องให้ปูนขาวช่วยในการปรับอัตรา 40-60 กิโลกรัม/ไร่ ระบายน้ำเข้าบ่อให้ได้ 10 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์จากนั้นเพิ่มระดับน้ำให้ได้ 50 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน เพิ่มระดับน้ำให้ได้ตามที่ต้องการ คือ ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร จึงปล่อยปลาลงเลี้ยงได้

กรณีบ่อเก่า หรือบ่อที่เคยผ่านการเลี้ยงมาแล้ว หลังจากที่จับปลาออกหมดแล้ว สูบน้ำทิ้งไว้ให้แห้ง 1-2 วัน ใส่ปูนขาวฆ่าเชื้อโรค พยาธิ และปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างบริเวณพื้นบ่อ แต่ถ้าเป็นบ่อที่มีเลนอยู่มากควรลอกเลนเสียก่อน จึงใส่ปูนขาวในอัตรา 120-200 กิโลกรัม/ไร่ จากนั้นตากบ่อทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงเพิ่มเติมน้ำเข้าบ่อเหมือนกับที่อธิบายไว้ในบ่อใหม่ แต่ถ้าในกรณีที่บ่อนั้นไม่สามารถสูบน้ำให้แห้งได้ จำเป็นต้องกำจัดศัตรูปลาให้หมดเสียก่อน ศัตรูของลูกปลาสวายได้แก่ ปลาที่กินเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่าลูกปลาสวาย เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลากราย หรืออาจจะเป็นงู กบ เขียด

3. น้ำ ต้องเป็นน้ำที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 6.5-7.5 และมีปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม คือ ไม่ต่ำกว่า 3 ppm. ต่อ 3 มิลลิกรัม/ลิตร

4. การคัดเลือกพันธุ์ปลา
– เป็นปลาที่สมบูรณ์ ไม่เป็นแผล ไม่แคระแกร็นหรือพิการและปราศจากโรค

– เป็นปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน เพราะปลาที่มีขนาดต่างกันเมื่อถึงเวลาจับขายทำให้มีปัญหาเรื่องขนาดของปลาอาจถูกกดราคาลงได้ซึ่งต้องแยกนำปลาขนาดเล็กนำมาเลี้ยงต่อ

5. อัตราการปล่อย ควรมีขนาดโตประมาณ 5-12 เซนติเมตร อัตราการปล่อย 2-3 ตัว/ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของอาหารที่เลี้ยง

6. อาหาร ปลาสวายเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกประเภท ได้แก่ พืชและสัตว์เล็กๆที่อยู่ในน้ำ แมลง ไส้เดือน หนอน และตะไคร้น้ำเป็นต้น นอกจากนั้นการเลี้ยงปลาสวายยังสามารถใช้ข้อมูลสัตว์แห้งอื่นๆ เช่น มูลสุกร มูลไก่ ฯลฯ มาเป็นอาหารโดยตรง ดังนั้น การหาวัสดุมาใช้เป็นอาหารของปลาสวายนั้นมีความสำคัญเพราะในการเลี้ยงปลาสวายให้ได้ผลสำเร็จหรือให้ได้ผลกำไรนั้นอยู่ที่การหาวัสดุมาใช้เป็นอาหาร ถ้าหาวัสดุที่ใช้เป็นอาหารมาได้ในราคาถูก การเลี้ยงปลาสวายจะได้กำไร

7. การเจริญเติบโต การเลี้ยงปลาสวายในบ่อดินจะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือนขนาดที่ได้ 1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วๆ ไป

8. การจับ ถ้าจับปลาจำนวนน้อยให้ใช้แหหรือสวิง แต่หากปลามีจำนวนมากควรใช้อวนหรือเฝือกล้อม หากเป็นบ่อขนาดใหญ่ควรแบ่งตอนของบ่อด้วยเฝือกหรืออวนก่อนแล้วจึงใช้อวนล้อมจับส่วนที่ต้องการออกเพื่อไม่ให้ปลาในบริเวณที่เหลือมีอาการตื่นเต้นและทำให้เป็นแผลหรือบอบช้ำ

9. ผลผลิต ปลาสวายที่เลี้ยงในบ่อดิน ในระยะเวลา 8-18 เดือน ได้ผลผลิตประมาณ 4,000-6,000 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของอาหารที่ให้ และน้ำที่ใช้เลี้ยง

ข. การเลี้ยงปลาสวายในกระชัง การเลี้ยงปลาสวายในกระชังนั้น เป็นการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตมากกว่าในบ่อดิน โดยมีหลักเกณฑ์การเลี้ยงปลาสวายในกระชัง มีดังนี้ คือ

1. ที่ตั้งของกระชัง ควรตั้งในแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หากเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำควรตั้งกระชังให้อยู่ในบริเวณตอนบนของอ่าง ซึ่งมีกระแสน้ำที่ช่วยถ่ายของเสียจากกระชังได้ และต้องหมั่นตรวจเช็คทำความสะอาดกระชังอยู่เสมอ

2. วัสดุที่ใช้ทำกระชัง ส่วนมากนิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็งแต่มีบางส่วนที่ใช้ไม้ไผ่สาน นอกจากนี้มีการใช้อวนโพลีเอททีลินมาทำกระชังแต่ยังไม่แพร่หลายมากนักเพราะมีราคาสูง

3. ขนาดของกระชัง ถ้าเป็นกระชังอวนโครงเหล็กควรมีขนาด 4x4x1.5 เมตร และถ้าเป็นไม้ไผ่สานควรมีขนาด 2x5x1.5 เมตร นอกจากนี้ยังมีกระชังที่ทำจากไม้ จะมีขนาดประมาณ 8-15 ตารางเมตร ลึก 1.25-1.5 เมตร

4. อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยงในกระชัง ควรใช้ลูกปลาขนาด 7-12 เซนติเมตร ปล่อยในอัตรา 100-200 ตัว/ตารางเมตร

5. อาหารและการให้อาหาร ใช้อาหารและส่วนประกอบของอาหารเหมือนกับที่เลี้ยงปลาในบ่อ แต่มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการให้อาหารปลาที่เลี้ยงในกระชังนั้น อาหารอาจจะฟุ้งกระจายขณะที่ปลาสวายแย่งกันกินอาหาร ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใส่สารเหนียวผสมในอาหารที่ให้ และควรให้อาหารวันละ 1 ครั้ง

6. การเจริญเติบโต ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของอาหาร หากเป็นกระชังขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร ลึก 1.25 เมตร ปล่อยปลา 150-200 ตัว/ตารางเมตร ใช้เวลาเลี้ยง 1 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 1,500 กิโลกรัม

7. การจับและการลำเลียงส่งตลาด การจับปลาสวายที่เลี้ยงในกระชังนั้นทำได้โดยใช้อวนล้อมจับในกระชัง ซึ่งง่ายกว่าการจับปลาในบ่อมาก ส่วนการลำเลียงปลาทางบกเพื่อให้ได้ปลาที่มีชีวิตไปขายในตลาดทำได้โดยรถยนต์ ใช้ถังสี่เหลี่ยมขังน้ำพอประมาณให้ท่วมตัวปลาแล้วใช้อวนปิดถัง

กรมประมง

บทความที่เกี่ยวข้อง